AD (728x60)

เครือข่าย PACT จัดสัมมนาเผยแพร่มาตรฐานการขจัดสินบนในองค์กร

Share & Comment
กรุงเทพฯ 28 ตุลาคม 2559 – เครือข่ายหุ้นส่วนต้านทุจริตเพื่อประเทศไทย ร่วมกับ ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) และ บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จัดสัมมนาเผยแพร่มาตรฐาน ISO 37001 ให้กับ 66 องค์กร ได้มีระบบจัดการการต่อต้านการติดสินบนที่ได้มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของ 59 ประเทศทั่วโลก


เครือข่ายหุ้นส่วนต้านทุจริตเพื่อประเทศไทย หรือเครือข่าย PACT (Partnership Against Corruption for Thailand) เป็นเครือข่ายที่ที่ริเริ่มขึ้นโดยสถาบันไทยพัฒน์ มีเป้าประสงค์ที่ต้องการสนับสนุนภาคธุรกิจให้มีแพลตฟอร์มดำเนินการต้านทุจริตในภาคปฏิบัติ ได้ร่วมมือกับบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เผยแพร่มาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยระบบจัดการการต่อต้านการติดสินบน (Anti-bribery management systems) หรือ ISO 37001 ให้แก่สมาชิกในเครือข่าย PACT และสมาชิกชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย โดยได้รับเกียรติจาก Mr. Neill Stansbury, Chair of the ISO 37001 Anti-Bribery Project Committee เป็นวิทยากรบรรยายถ่ายทอดสดจากสำนักงานในประเทศอังกฤษ

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ กล่าวในฐานะองค์กรผู้ริเริ่มเครือข่าย PACT ว่า “การจัดสัมมนาในวันนี้ มีสมาชิกจากเครือข่าย PACT และจากชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 100 คน จาก 66 องค์กร หลังจากที่องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) เพิ่งประกาศใช้มาตรฐาน ISO 37001 ไปเมื่อ 15 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นข้อกำหนดที่ให้แนวทางในการจัดทำ ดำเนินการ การรักษาไว้ ตลอดจนการปรับปรุงระบบการจัดการป้องกันการติดสินบน และเป็นมาตรฐานที่ถูกให้การยอมรับจาก 59 ประเทศ ในการจัดการลดความเสี่ยงด้านการทุจริตติดสินบนจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือองค์กรไม่แสวงหากำไร”


Mr. Neill Stansbury ประธานคณะกรรมการจัดทำมาตรฐาน ISO 37001 จากองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ได้กล่าวถึงมาตรฐานระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน ว่า “ISO 37001 จะช่วยให้ความเชื่อมั่นกับฝ่ายบริหาร ผู้ลงทุน คู่ค้า บุคลากร และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ต่อการที่องค์กรได้ยกระดับการดำเนินการป้องกันการติดสินบนตามที่สมควร”

นอกจากการบรรยายพิเศษในหัวข้อการวางระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน ตามมาตรฐาน ISO 37001 โดยประธานคณะกรรมการจัดทำมาตรฐาน ISO 37001 จากองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) แล้ว หัวข้อการสัมมนาในครั้งนี้ ยังประกอบด้วย อาชญากรรมทางเศรษฐกิจในภาคธุรกิจและระบบป้องกันในองค์กร และการรับรองระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน ตามมาตรฐาน ISO 37001 โดยวิทยากรจากบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ตามลำดับ


คุณวรพงษ์ สุธานนท์ หุ้นส่วนสายงาน Forensic services บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) หรือ PwC กล่าวในฐานะ Consulting Partner ของเครือข่าย PACT ในระหว่างงานสัมมนาครั้งนี้ ว่า “กระบวนการขั้นตอนในการทำทุจริตในรูปแบบการติดสินบนในปัจจุบันมีการพัฒนาไปในรูปแบบที่ซับซ้อนและตรวจพบยากขึ้น ดังนั้น บริษัทควรจะมองหามาตรฐานที่สามารถมาประยุกต์ใช้ได้กับประเทศไทย ทั้งนี้ องค์กรควรจัดทำนโยบายที่ชัดเจนจับต้องได้ มีกรณีศึกษาเป็นตัวอย่าง รวมถึงมีช่องทางในการเปิดเผยความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) นอกจากนั้นแล้ว ควรจัดให้มีกระบวนการติดตามโดยการตรวจสอบความสัมพันธ์ การติดตามความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกับช่วงเวลาที่มีการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจกับคู่ค้าหรือพันธมิตร (strategic vendor) สุดท้ายคือ การมีกระบวนการรับมือเหตุทุจริตหรือกรณีสงสัย และการเยียวยาความเสียหายอย่างเป็นทางการ ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้สามารถเริ่มต้นได้ด้วยการใช้มาตรฐาน ISO 37001 ที่เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล”

เมื่อเกิดเหตุทุจริตขึ้น ย่อมจะส่งผลลบต่อกำไรสุทธิของบริษัท และกระทบกับขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากการกรณีทุจริตที่ละเมิดต่อกฏหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการเสื่อมเสียชื่อเสียงที่องค์กรอุตส่าห์สั่งสมมาอย่างยาวนาน ในชั่วข้ามคืน จึงถือเป็นความเสี่ยงที่องค์กรไม่อาจเพิกเฉยได้

ปัจจุบัน กฏหมายป้องกันการติดสินบนข้าราชการต่างประเทศ หรือ US Foreign Corrupt Practices Act (FCPA) ของสหรัฐอเมริกา และ UK Anti-Bribery Act ของสหราชอาณาจักร ที่มีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ยิ่งทำให้บริษัทไทยต้องมีมาตรการในการต่อต้านและปราบปรามการติดสินบนอย่างเข้มงวด และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล บริษัทไม่สามารถปัดความรับผิด หรือผลักภาระรับผิดชอบไปยังพนักงาน หรือคู่ค้าภายนอกได้ แต่ต้องมีระบบการจัดการในเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร

ISO 37001 ถือเป็นคำตอบที่องค์กรในทุกขนาด และในทุกห่วงโซ่ธุรกิจ สามารถใช้เป็นมาตรฐานการดำเนินงานและการสื่อสารถึงการต่อต้านการติดสินบนได้ในภาษาเดียวกัน โดยได้รับการยอมรับใน 59 ประเทศทั่วโลก

ด้านคุณประวาลทอง ทองใหญ่ ณ อยุธยา ผู้จัดการฝ่ายรับรองมาตรฐาน - บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) หรือ BVC ในฐานะ Certification Partner ของเครือข่าย PACT กล่าวถึงบทบาทของ BVC ต่อการตรวจสอบเพื่อให้การรับรองระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบนสำหรับองค์กรที่ปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดในมาตรฐานฉบับดังกล่าว ว่า “มาตรฐาน ISO 37001 ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเป็นมาตรฐานประเภท A ที่สามารถตรวจให้การรับรองได้ และเป็นมาตรฐานสากลที่สามารถนำไปปฏิบัติ และตรวจสอบให้การรับรองได้กับทุกประเภทและทุกขนาดขององค์กร ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งองค์กรไม่หวังผลกำไร ซึ่งต่างจาก BS 10500 ที่ออกแบบเพื่อให้เป็นมาตรฐานรองรับกับ UK Anti-bribery Act โดยเฉพาะ

บูโร เวอริทัส มีประสบการณ์ในการให้บริการระบบการจัดการประเภทต่างๆ ทั่วโลก ISO 37001 เป็นมาตรฐานการจัดการอีกประเภทหนึ่ง ที่บูโร เวอริทัส ให้ความสำคัญ เพราะเป็นมาตรฐานที่มุ่งประเด็นไปที่ปัญหาการติดสินบน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งของประเทศไทย โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันกับ United Nations Convention Against Corruption (UNCAC) และมีการปรับปรุงกฏหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต บทบาทของบูโร เวอริทัสในฐานะหน่วยงานให้การรับรองอิสระในระดับสากล (International Certified Body) คือ การสนับสนุนองค์กรที่ขอการรับรองให้ proactive กับการปัองกันการติดสินบน ผ่านการจัดการที่เป็นมาตรฐาน”


ในการสัมมนาหัวข้อการรับรองระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน ตามมาตรฐาน ISO 37001 คุณรัฐพร มาลยพันธุ์ Climate Change & Sustainable Service Manager - บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) หรือ BVC กล่าวถึงประเด็นเรื่องการรับรองระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน เพิ่มเติมว่า “การขอการรับรองมาตรฐาน ISO 37001 ปฏิบัติเหมือนกับการขอการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการอื่นๆ เช่น ISO 9001, ISO 14001 องค์กรควรประเมินความเสี่ยงด้านการติดสินบนเบื้องต้น และกำหนดขอบเขตของการรับรองกับบูโร เวอริทัส องค์กรต้องมีการดำเนินการตามมาตรฐานฯ ก่อนที่เข้าสู่กระบวนการตรวจรับรอง หรือ certification

เมื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ บูโร เวอริทัส จะเริ่มการตรวจสอบความพร้อมขององค์กรเบื้องต้นก่อน หากองค์การสามารถแสดงหลักฐาน หรือแผนงานที่แสดงว่าได้มีการดำเนินการตามมาตรฐานฯ บูโร เวอริทัสก็จะดำเนินการตรวจสอบในรายละเอียดการดำเนินการตามมาตรฐานฯ ต่อไป การรับรองมีอายุ 3 ปี และจะมีการตรวจสอบรายปี เพื่อให้แน่ใจว่ามีการดำเนินการตามระบบการจัดการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การขอรับการตรวจรับรองตามมาตรฐาน ISO 37001 ขั้นตอนการตรวจขอการรับรองเป็นกระบวนการสากล อีกทั้งแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานฯ ก็เป็นแนวทางที่ปฏิบัติได้ และเกิดประโยชน์กับองค์กร เช่น การนำไปบูรณาการกับระบบ Compliance ขององค์กร การลดความเสี่ยงและความเสียหายจากปัญหาการติดสินบน ช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับผู้มีส่วนได้เสีย และการสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับองค์กร เป็นต้น การตรวจรับรองจึงเป็นโอกาสที่ดี ไม่ใช่อุปสรรคในการนำนโยบายการต่อต้านการติดสินบนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม”

มาตรฐาน ISO 37001 ช่วยให้องค์กรสามารถนำนโยบายการต่อต้านการติดสินบนไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม การมอบหมายให้มีผู้ดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบาย การฝึกอบรม การประเมินความเสี่ยง รวมถึงการตรวจสอบสถานะโครงการและคู่ค้า การนำมาตรการควบคุมดูแลด้านการเงินและธุรกรรมมาใช้ ตลอดจนการวางระบบการรายงานและขั้นตอนการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไปที่ต้องการเข้าร่วมในเครือข่าย PACT หรือสนใจการวางระบบและการรับรองระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน ตามมาตรฐาน ISO 37001 สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณจินตนา จันสน อีเมล info@pact.network ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

____________________________________________

ISO 37001 Anti-bribery management systems:
An overview of the standard
and how it can impact your business
____________________________________________

เครือข่ายหุ้นส่วนต้านทุจริตเพื่อประเทศไทย (PACT)
Partnership Against Corruption for Thailand (PACT) เป็นเครือข่ายขององค์กรจากหลากหลายสาขาที่มีเป้าประสงค์ในการต่อต้านการทุจริต ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2558 โดยสถาบันไทยพัฒน์ และหุ้นส่วนความร่วมมือซึ่งเห็นความสำคัญต่อการสร้างพื้นที่การดำเนินงานในระดับสาขาอุตสาหกรรม และการพัฒนารูปธรรมการต่อต้านการทุจริตในภาคปฏิบัติ (Action-oriented) ที่มีความเหมาะสมกับบริบทขององค์กรธุรกิจ โดยแนวทางการต้านทุจริตที่เครือข่าย PACT เผยแพร่ให้แก่องค์กรสมาชิก อ้างอิงจากหลักการและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตที่พัฒนาขึ้นโดยข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ และองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ปัจจุบัน เครือข่าย PACT มีสมาชิกทั้งสิ้น 139 บริษัท

ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PwC)
PwC (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) หนึ่งในเครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก มีเครือข่ายไปใน 157 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 223,000 คน สำหรับประเทศไทย บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 58 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรกว่า 1,600 คนในประเทศไทย

บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (BVC)
บริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในกลุ่มบูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น โฮลดิ้ง เอสเอเอส ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ 2371 และเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศฝรั่งเศส มีประสบการณ์ในการตรวจประเมินและให้ใบรับรองด้านมาตรฐานการจัดการให้แก่กลุ่มลูกค้ามากกว่า 400,000 รายทั่วโลก บริษัทบูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น ได้ดำเนินงานในประเทศไทยโดยผู้บริหาร และทีมงานชาวไทยตั้งแต่ พ.ศ 2536 บูโร เวอริทัสเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรับรองระบบคุณภาพ สุขอนามัย ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และการรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งเป็นผู้ตรวจสอบ และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น


สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
จินตนา จันสน - เครือข่าย PACT:
02 930 5227 หรือ info@pact.network



[ข่าวประชาสัมพันธ์]
Tags:
 
Copyright © PACT Network